ศิลปะการแสดงหลายอย่างของโอกินาวาได้รับการสืบทอดและปลูกฝังมาจากประวัติศาสตร์และขนบธรรมเนียมประเพณี
แม้จะพูดเป็นคำพูดสั้นๆ ว่า “ศิลปะการแสดงดั้งเดิมของโอกินาวา” แต่ที่จริงแล้วยังสามารถแบ่งประเภทของการแสดงออกมาได้อีกหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นการร่ายรำ, การแสดงดนตรี หรือการแสดงละคร แต่เดิมที ศิลปะการแสดงที่ถือเป็นจุดกำเนิดในช่วงสมัยที่โอกินาวายังเจริญรุ่งเรืองในฐานะที่เป็นอาณาจักรริวกิวนั้นมีอยู่มากมาย และได้รับการสืบทอดโดยผ่านประวัติศาสตร์ในช่วงยุคต่างๆ มาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น ทางเราเลยจะขอแนะนำ “ศิลปะการแสดงดั้งเดิมของโอกินาวา” ที่มีวิวัฒนาการเป็นเอกลักษณ์เฉพาะโดยได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมของญี่ปุ่นและจีนในอดีต
คุมิโอโดริ
ความงดงามของโอกินาวาที่ได้รับการบันทึกจากยูเนสโก้ให้เป็น "มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้"

จุดกำเนิดของ “คุมิโอโดริ” ต้องย้อนกลับไปยังยุคสมัยริวกิวในช่วงศตวรรษที่ 18 โดยเมื่อปี ค.ศ.1718 ทามากุสุคุ โจคุง ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้กำกับการแสดงของรัฐบาลเป็นผู้ริเริ่มการแสดงชุดนี้ขึ้นมา เจ้าตัวได้สร้างสรรค์การแสดงชุด “คุมิโอโดริ” โดยการนำตำนานของริวกิวและศิลปะการแสดงที่มีมาแต่โบราณเป็นพื้นฐาน และมีการอ้างอิงศิลปะการแสดงแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นเข้ามาเพิ่มเติม เดิมทีชุดการแสดง “คุมิโอโดริ” ได้ถือกำเนิดขึ้นเพื่อเป็นการแสดงเลี้ยงรับรองทูตสัมพันธไมตรีจากประเทศจีน โดยถูกริเริ่มขึ้นมาด้วยองค์ประกอบ 3 อย่าง ได้แก่ บทพูด (ใช้คำศัพท์ญี่ปุ่นโบราณหรือคำศัพท์ที่ใช้พูดในชูริซึ่งเป็นที่ตั้งของรัฐบาลเป็นหลัก), ดนตรีและแนวเพลงริวกะในสมัยริวกิวโบราณ (ดนตรี-เพลง) และการร่ายรำ (ระบำริวกิว) การแสดงชุดนี้ได้รับการสืบทอดไปตามยุคสมัยในฐานะศิลปะการแสดงชั้นสูงที่มีความเป็นทางการของ “ริวกิว” ซึ่งคล้ายกับศิลปะการแสดงแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นที่เรียกว่าละครโนและเคียวเก็น
ความงดงามที่ครอบคลุมถึงรายละเอียดต่างๆ เช่น รูปแบบการแสดงและอุปกรณ์ขนาดเล็กที่ใช้ในการแสดง ฯลฯ ทำให้ได้รับการประเมินให้เป็นศิลปะการแสดงชั้นสูง โดยในปี ค.ศ.1972 ได้ถูกกำหนดให้เป็น “มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้อันสำคัญ” ของประเทศ นอกจากนี้ ในปี ค.ศ.2010 ก็เป็นที่จับตามองหลังจากที่ได้ถูกขึ้นทะเบียนจากทางยูเนสโก้ให้เป็น “มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้”
ระบำริวกิว
เวทีสวยสดใสที่ทำให้เหล่าผู้คนหลงใหลด้วยผลงานหลากสีตั้งแต่ศิลปะแบบโบราณไปจนถึงการผลิต

เป็นหนึ่งในศิลปะการแสดงที่มีการร่ายรำแบบดั้งเดิม โดยได้ทำการแสดงในงานเลี้ยงต้อนรับทูตสัมพันธไมตรีจากจีนที่ถูกส่งมาประจำในช่วงสมัยราชวงศ์ริวกิว เป็นผลงานการแสดงที่ถูกสร้างสรรค์ออกมาตามการดำเนินชีวิตของชาวบ้านด้วยหลากท่วงท่าระบำที่แสดงออกมาด้วยความรู้สึกที่มาจากใจ (โซอุดูอิ) และผู้ทำการแสดงที่เป็นคนยุคใหม่ การแสดงชุดนี้ถูกแบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ๆ เป็นการร่ายรำตามชนเผ่าที่ได้รับการสืบทอดด้วยกลิ่นอายของพื้นที่ในแต่ละท้องถิ่น ซึ่งมุมมองที่มีต่อโลกในแต่ละพื้นที่จะถูกแสดงออกมาให้ได้ชมกัน นอกจากนี้ เดิมทีผู้ที่ทำการแสดงชุดนี้จะมีเพียงแค่เฉพาะผู้ชายเท่านั้น แต่หลังจากสมัยเมจิเป็นต้นมาก็มีนักระบำหญิงจำนวนมากได้ถือกำเนิดขึ้น ทำให้ศิลปะการแสดงแบบดั้งเดิมของโอกินาวาเริ่มเป็นที่แพร่หลายมากยิ่งขึ้น
การแสดงดนตรีโบราณสไตล์ริวกิว
เสียงก้องกังวาลของศิลปะอันทรงคุณค่าและงดงามที่บรรเลงโดยทางราชสำนักในสมัยราชวงศ์ริวกิว

การแสดงดนตรีที่มีการบรรเลงโดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ฝ่ายรัฐบาลในสมัยราชวงศ์ริวกิว โดยจะเน้นการเล่นเครื่องดนตรีซันชินเป็นหลัก ว่ากันว่าในสมัยก่อนได้เคยทำการแสดงดนตรีขึ้นในงานเลี้ยงต้อนรับทูตสัมพันธไมตรีจากจีนและได้เคยทำการแสดงในช่วงที่ตกอยู่ในการปกครองของแคว้นซัตสึมะและรัฐบาลโชกุนโทคุกาวะ การแสดงดนตรีนี้ได้ถูกนำไปใช้ในฐานะเพลงประกอบการแสดงคุมิโอโดริและการร่ายรำตามวรรณคดีโบราณ อีกทั้งยังมีบทบาทที่สำคัญในฐานะหนึ่งในศิลปะการแสดงอันเป็นตัวแทนของอาณาจักรริวกิวอีกด้วย นอกจากซันชินแล้ว ยังมีการใช้เครื่องดนตรีต่างๆ ที่ใช้แสดงร่วมกันมากมาย เช่น คุตุ, ฟันโซ, คูโจ และกลองไทโกะ ฯลฯ โดยมีจุดเด่นตรงที่มีการบรรเลงเพลงด้วยความสง่างามอย่างเป็นพิธีรีตอง
เพลงพื้นเมืองโอกินาวา
เสียงเพลงที่เต็มไปด้วยบันไดเสียงอันเป็นลักษณะเฉพาะและความรู้สึกที่ถ่ายทอด "จิตวิญญาณ" ของผู้คนในโอกินาวา

ถ้าหากเปรียบเทียบกับดนตรีดั้งเดิมแล้ว เพลงพื้นเมืองโอกินาวาได้มีพัฒนาและจัดตั้งขึ้นจากในหมู่ชาวบ้าน โดยในปัจจุบันนี้ก็ยังคงความรุ่งเรืองและมีผู้ที่ชื่นชอบจำนวนมากที่คอยติดตามทั้งในและนอกจังหวัด การพัฒนาเกิดขึ้นทีละนิดในหมู่ชาวบ้านในฐานะต้นกำเนิดดนตรีดั้งเดิมในโอกินาวา ก่อให้เกิดการสร้างสรรค์บทประพันธ์ดนตรีชั้นสูงเป็นจำนวนมากซึ่งมีเรื่องราวอันเต็มไปด้วยความรู้สึก ซันชินเป็นเครื่องดนตรีสำคัญที่ถูกนำเข้ามาจากจีน และเป็นเครื่องดนตรีหลักที่มีบันไดเสียงอันเป็นเอกลักษณ์ (บันไดเสียงริวกิว) ซึ่งประกอบด้วยเสียง “โด-มี-ฟา-ซอล-ที” โดยปราศจากเสียง “เร” และเสียง “ลา” จากบันไดเสียงแบบตะวันตกที่ใช้กันตามสากลที่เราได้ยินกันในปัจจุบัน
ศิลปะการแสดงพื้นเมือง
การแสดงอันหลากหลายที่ได้รับการสืบทอดจากในแต่ละพื้นที่ของโอกินาวามาแต่โบราณ

เป็นการแสดงพื้นเมืองที่ได้รับการสืบทอดต่อๆ กันมาจากตามหมู่บ้าน ตามแต่ละพื้นที่ และตามบริเวณเกาะต่างๆ ในโอกินาวา โดยมีจุดกำเนิดมาจากกิจกรรมต่างๆ เช่น งานเทศกาลขอพรให้ผลผลิตทางการเกษตรมีความอุดมสมบูรณ์ และงานขอบคุณเกี่ยวกับการเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยเน้นไปที่การเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวเป็นหลัก ซึ่งก็มีทั้งการแสดงกลอง “เอซา” และการแสดงเชิดสิงโต “ชิชิไม” ฯลฯ แม้กระทั่งในปัจจุบันนี้ การแสดงต่างๆ นี้ก็ยังคงถูกจัดแสดงตามงานเทศกาลต่างๆ ในแต่ละพื้นที่, ในหมู่บ้านและในแต่ละชุมชน
อย่างในงานเทศกาลโอบ้งก็จะมีการจัด “มิจิจูเน่” (ขบวนพาเหรด) ขบวนกลองเอซาตามแต่ละท้องที่
ละครโอกินาวา (อุจินาชิไบ)
หลากหลายละครที่ผู้คนต่างชื่นชอบและคุ้นเคย ผ่านการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย
ว่ากันว่า “อุจินาชิไบ” หรือละครโอกินาวาได้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อสมัยที่มีการยกเลิกการปกครองแบบแว่นแคว้นและตั้งเป็นจังหวัดแทนหลังการปฏิรูปเมจิเมื่อปี ค.ศ.1879 โดยมีทั้งการแสดงแบบใช้บทพูดจากนิทานปรัมปราและหนังสือประวัติศาสตร์เป็นที่มาในการแต่งบทละคร และมีทั้งการแสดงแบบ “ละครเพลง” เพื่อเข้าใจในการมองโลกและชีวิตอันเป็นเอกลักษณ์ โดยการแสดงสอดคล้องกันระหว่างบทพูดและบทเพลงพื้นบ้าน ด้วยดนตรีดั้งเดิมและการร่ายรำ “อุจินาชิไบ” ได้แสดงให้เห็นถึงขนบธรรมเนียมและประวัติศาสตร์ของชาวบ้านในโอกินาวา โดยในปัจจุบันนี้ก็ยังคงมีการเปิดแสดงให้ชมกันตามโรงละครต่างๆ ซึ่งไม่เพียงแค่เรื่องราวดั้งเดิมเท่านั้น แต่มีเรื่องราวใหม่ๆ ที่ได้ถูกประพันธ์ขึ้นมาเป็นจำนวนมากอีกด้วย