VISIT OKINAWA JAPAN Official Okinawa Travel Guide

ปฏิทินแบบเก่า (ตามจันทรคติ) และเทศกาลในรอบปีของโอกินาวา

วัฒนธรรมตามปฏิทินแบบเก่า (ตามจันทรคติ) ที่ยังคงดำรงอยู่แม้กระทั่งในยุคปัจจุบัน

ตามปกติแล้ว ที่ญี่ปุ่นจะจัดงานต่างๆ โดยอิงจากปฏิทินสุริยคติหรือตามปฏิทินแบบใหม่เป็นหลัก แต่สำหรับที่โอกินาวาแล้ว การจัดงานกิจกรรมและพิธีกรรมต่างๆ จะจัดขึ้นตามปฏิทินแบบเก่า (ตามจันทรคติ) ซึ่งปฏิทินทั้ง 2 แบบ ทั้งปฏิทินสุริยคติและปฏิทินแบบเก่า (ตามจันทรคติ) ต่างก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการดำเนินชีวิต

ปฏิทินแบบเก่า (ตามจันทรคติ) คืออะไร?

h

ปฏิทินแบบเก่า (ตามจันทรคติ) เป็นปฏิทินที่นับเวลาพื้นฐานตามข้างขึ้น-ข้างแรมของดวงจันทร์ ในสมัยก่อน ว่ากันว่าเป็นปฏิทินที่ช่วยวางแผนช่วงเวลาการทำประมง, การหว่านเมล็ดพันธุ์ และการเก็บเกี่ยวผลผลิต ซึ่งทำการตรวจสอบจากการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติโดยอ้างอิงจากดิถีของดวงจันทร์ แต่เนื่องจากการใช้ดิถีของดวงจันทร์เพียงอย่างเดียวได้ส่งผลให้ฤดูกาลทั้ง 4 มีความคลาดเคลื่อนออกไป จึงได้มีการยกเลิกปฏิทินดังกล่าวและใช้ภาวะหรือสารทในปฏิทินจีนที่แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลซึ่งเกิดขึ้นประมาณ 2 ครั้ง ต่อ 1 เดือน สิ่งนี้เรียกว่า “ปฏิทินสุริยจันทรคติ” หรือ “ปฏิทินแบบเก่า (ตามจันทรคติ)”

ปฏิทินแบบเก่า (ตามจันทรคติ) นี้ ได้ถูกนำเข้ามายังโอกินาวาในยุคสมัยราชวงศ์ริวกิว โดยงานเทศกาลและพิธีกรรมต่างๆ ได้ถูกจัดขึ้นโดยอิงจากตัวปฏิทินเป็นหลัก โดยสาเหตุที่ทำให้มีการยึดปฏิทินแบบเก่าเป็นหลักนั้น นอกจากการได้รับอิทธิพลของวัฒนธรรมจีนแล้ว การที่โอกินาวาเป็นประเทศหมู่เกาะที่ถูกล้อมรอบด้วยทะเลทั้ง 4 ทิศ ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งเช่นกัน เนื่องจากการทำเกษตรและประมงภายใต้สภาพอากาศอันเข้มงวดทั้งพายุไต้ฝุ่นและความร้อน ปฏิทินแบบเก่า (ตามจันทรคติ) ที่สามารถวางแผนช่วงเวลาน้ำขึ้น-น้ำลง, การหว่านเมล็ดพันธุ์ และการเก็บเกี่ยวผลผลิตจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ นอกจากนี้ เนื่องจากเป็นสถานที่ที่อยู่ห่างจากภูมิภาคอื่นๆ ในญี่ปุ่น วัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะจึงมีการเจริญเติบโตออกไปจนถึงปัจจุบัน อย่างการสวดอธิษฐานให้ได้ผลผลิตอุดมสมบูรณ์, จับปลาได้ปริมาณมาก และการสวดอธิษฐานเพื่อขอพรเรื่องสุขภาพ ฯลฯ

ความเชื่อมโยงระหว่างปฏิทินแบบเก่า (ตามจันทรคติ) และการจัดกิจกรรมตามประเพณีดั้งเดิม

h

งานอีเว้นท์และงานเทศกาลในรอบปีที่เกี่ยวข้องกับบรรพบุรุษโดยส่วนใหญ่ที่จัดขึ้นในโอกินาวาจะมีขึ้นโดยอิงตามปฏิทินแบบเก่า (ตามจันทรคติ) เป็นหลัก

เมื่อครั้งที่โอกินาวาในอดีตเคยเป็นสังคมเกษตรกรรม ธรรมเนียมการสวดอธิษฐานต่อเทพเจ้าเพื่อขอให้ช่วยคุ้มครองผลผลิตทางการเกษตรจากสภาพอากาศอันโหดร้าย ทั้งพายุไต้ฝุ่นที่ขึ้นฝั่งอยู่บ่อยครั้งและความแห้งแล้ง ได้มีขึ้นมาแบบฝังรากลึก นอกจากนี้ ในช่วงสมัยราชวงศ์ริวกิว ทางหน่วยงานการปกครองได้ดำเนินการเลือกวันที่จะจัดงานและพิธีกรรมต่างๆ โดยรับระบบ “ภาวะ” หรือ “สารท” ทั้ง 24 ตามปฏิทินจีนมาใช้ควบคู่กับปฏิทินแบบเก่า (ตามจันทรคติ) ด้วยเหตุนี้ พิธีกรรมของหมู่บ้านจึงได้กลายเป็นเทศกาลในรอบปีที่ถูกจัดขึ้นอย่างสม่ำเสมอโดยยึดตามปฏิทินแบบเก่า (ตามจันทรคติ) และตามรอยต่อของฤดูกาลที่มีอิทธิพลต่อการเจริญเติบโตของผลผลิตทางการเกษตร

เทศกาลในรอบปีที่สืบทอดต่อกันมาในแต่ละท้องถิ่น เมื่อมองในเชิงเปรียบเทียบแล้ว เทศกาลในรอบปีที่ยึดติดกับครอบครัวและการดำเนินชีวิตอย่างเทพเจ้าไฟ (ฮินุคัง) ที่เป็นเทพเจ้าประจำห้องครัว และการสวดอธิษฐานต่อวิญญาณบรรพบุรุษ (อุกัง) ไม่ได้เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่เป็นสิ่งที่ฝังรากลึกลงในการดำเนินชีวิตมาตั้งแต่โบราณ ในปฏิทินที่มีการบรรจุปฏิทินแบบเก่า (ตามจันทรคติ) เข้ามา จะมีพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับศาสนาชินโตและศาสนาพุทธในทุกๆ เดือน โดยทุกวันที่ 1 และวันที่ 15 ของเดือนจะมีการถวายของบนหิ้งพระและสวดมนต์อธิษฐานแบบเป็นพิเศษ สิ่งนี้ควรที่จะเรียกว่าเป็นขนบธรรมเนียมมากกว่าที่จะเป็นพิธีกรรม ซึ่งที่โอกินาวาก็มีผู้คนจำนวนมากที่คิดว่าการสวดมนต์อธิษฐานในลักษณะแบบนี้เป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว

เทศกาลหลักในรอบปี

วันที่ 1 เดือน 1 ตามปฏิทินจันทรคติ วันขึ้นปีใหม่ในอดีต (โซกุวะจิ)

h

ที่โอกินาวาในปัจจุบันนี้ได้ยึดอิงตามกระแสหลักให้วันที่ 1 เดือน 1 (มกราคม) ตามปฏิทินแบบใหม่หรือตามแบบสุริยคติเป็นวันขึ้นปีใหม่ แต่อีกด้านหนึ่งก็มีบางครอบครัวที่ทำการเฉลิมฉลองทั้งในวันขึ้นปีใหม่แบบเก่าและในวันขึ้นปีใหม่แบบปัจจุบัน การสวดมนต์อธิษฐานนั้นจะมีทั้งแบบชินโตและศาสนาพุทธ เมื่อเข้าสู่ช่วงปลายปีตามปฏิทินแบบเก่า สินค้าที่ไม่ได้พบเห็นตามปกติ เช่น อุปกรณ์ประดับตกแต่งและอาหารสำหรับช่วงปีใหม่จะถูกวางจำหน่ายเรียงรายตามหน้าร้าน แม้ว่าจะไม่ใช่วันขึ้นปีใหม่ตามปฏิทินแบบใหม่ แต่ตามตลาดและซุปเปอร์มาร์เก็ตก็จะคับคั่งไปด้วยผู้คนที่มาซื้อของ และตามแต่ละครอบครัวก็จะทำการฉลองปีใหม่กันแบบเรียบๆ พร้อมกับสวดมนต์อธิษฐานให้ครอบครัวมีสุขภาพแข็งแรงและมีความเจริญรุ่งเรืองโดยการถวายของประดับตกแต่งสำหรับช่วงปีใหม่และจอกเหล้าตามแบบศาสนาชินโตและศาสนาพุทธ

วันที่ 3 เดือน 3 ตามปฏิทินจันทรคติ วันฮามะอุริ

h

ว่ากันว่าวันนี้เป็น “วันเทศกาลที่สำคัญในรอบปีของผู้หญิง” โดยเป็นกิจกรรมที่เหล่าหญิงสาวจะได้สนุกสนานกัน ทั้งการลงไปยังชายหาดแล้วชำระล้างร่างกายโดยการทำให้มือและเท้าเปียกด้วยน้ำทะเล รวมไปถึงการเก็บหอย ปู กุ้ง ในช่วงเวลาน้ำลง ในช่วงเวลานั้นจะมีธรรมเนียมการนำอาหารชนิดต่างๆ มารวมใส่ในกล่องเครื่องเขิน ซึ่งอัดแน่นไปด้วยสีสัน อาทิเช่น ข้าวเหนียวนึ่งถั่วแดง (เซคิฮัง), อาหารประเภทถั่ว, อาหารจากภูเขา-ทะเล, โยโมงิโมจิ, ขนมซันกุวะจิกุวาชี ฯลฯ

เนื่องจากในช่วงเวลานี้จะเป็นช่วงฤดูกาลเปิดทะเลพอดี จึงคับคั่งไปด้วยครอบครัวที่มาเก็บหอย ปู กุ้ง ในขณะน้ำลง และเฝ้าสังเกตการณ์สิ่งมีชีวิตในทะเลที่บริเวณชายฝั่งทะเลน้ำตื้น ส่วนกิจกรรมสำหรับเด็กสาวก็ค่อยๆ มีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นกิจกรรมที่จัดควบคู่กับกิจกรรมสันทนาการทางทะเล

ช่วงกลางเดือน 3 ตามปฏิทินจันทรคติ เทศกาลเช็งเม้ง (ชีมี)

เป็นพิธีกรรมการทำบุญให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วซึ่งมีการถ่ายทอดมาจากประเทศจีน และเป็น 1 ใน 3 ประเพณีใหญ่ที่สำคัญในโอกินาวาเทียบเท่ากับเทศกาลโอบ้งและเทศกาลปีใหม่ โดยทั่วไป ครอบครัวและญาติพี่น้องจะเดินทางไปยังสุสานของบรรพบุรุษเพื่อทำความสะอาดสุสาน จัดถวายสำรับอาหาร และรับประทานอาหารที่หน้าสุสานหลังจากที่สวดอธิษฐานเสร็จแล้ว ว่ากันว่าการที่ทุกคนที่เป็นเครือญาติร่วมกันทำบุญให้บรรพบุรุษนั้น เมื่อวิญญาณบรรพบุรุษได้เห็นว่าทุกคนมารวมตัวกันและใช้ชีวิตแบบมีความรักใคร่กันดี ก็จะสามารถนอนตายตาหลับได้อย่างหมดห่วง

วันที่ 4 เดือน 5 ตามปฏิทินจันทรคติ ยุกกะนุฮี

h

วันที่ 4 เดือน 5 ตามปฏิทินจันทรคติ หรือในช่วงวันหยุดก่อน-หลังวันดังกล่าว จะมีการจัดแข่งเรือฮะริวเซ็น หรือที่เรียกว่า “ฮารี” (ฮาเร) ตามท้องที่ต่างๆ ภายในจังหวัด การแข่งเรือนี้เป็นงานที่จัดขึ้นเพื่อสวดอธิษฐานให้สามารถจับปลาได้มากและเพื่อให้สามารถเดินเรือได้อย่างปลอดภัยตลอดทั้งปี จึงเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่เหล่าชาวประมงให้ความสนใจกันมาก ฮารีเป็นสิ่งที่มีความเกี่ยวข้องกันกับการอธิษฐาน (พิธีกรรมที่เกี่ยวกับเทพเจ้า) อย่างลึกซึ้ง โดยจะมีการจัดพิธีการในสถานที่บวงสรวงเทพเจ้าแห่งท้องทะเลตั้งแต่เช้าตรู่ และมีสถานที่อยู่เป็นจำนวนไม่น้อยเลยที่สุดท้ายแล้วจะเข้มงวดต่อคำอธิษฐาน

ในวันยุกกะนุฮีที่มีการจัดแข่งเรือฮารี จะมีธรรมเนียมมอบของเล่นให้แก่เด็กๆ เป็นของขวัญเพื่อให้เด็กๆ เติบโตขึ้นมาอย่างแข็งแรง โดยในสถานที่จัดงานฮารีจะมีตลาดขายของเล่นตั้งอยู่เรียงรายด้วย นอกจากนี้ ในครอบครัวจะมีการทำขนม “โปโป” และขนม “จินปิง” ซึ่งเป็นขนมโบราณดั้งเดิมของโอกินาวาด้วย จึงเป็นวันที่ครอบครัวจะได้สนุกสนานด้วยการไปชมการแข่งเรือฮารี

วันที่ 15 เดือน 6 ตามปฏิทินจันทรคติ เทศกาลเดือนหก - การแข่งขันชักกะเย่อ

การแข่งชักกะเย่อที่จัดขึ้นอยู่ตามแต่ละท้องที่ภายในจังหวัดโอกินาวาจะแบ่งออกเป็นเชือกที่เอาไว้ใช้แข่งขันตอนช่วงโระขุกัตสึอุมะจีที่เฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยวผลผลิตของนาข้าว และเชือกที่เอาไว้ใช้แข่งขันในวันที่ 15 เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติ งานแข่งชักกะเย่อของเมืองโยนาบารุ (เดือน 6 ตามปฏิทินจันทรคติ), งานแข่งชักกะเย่อของเมืองอิโตมัน (เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติ) และงานแข่งชักกะเย่อที่เมืองนาฮะ (ช่วงก่อน-หลังวันที่ 10 ตุลาคม ตามปฏิทินแบบใหม่) เป็นงานแข่งขันชักกะเย่อที่เป็นตัวแทนของโอกินาวา

การแข่งขันชักกะเย่อ เป็นประเพณีดั้งเดิมที่เกิดจากการแข่งขันดึงเชือกยักษ์เพื่อเป็นการรวมคำขอพรต่างๆ ทั้งเทศกาลขอบคุณการเก็บเกี่ยวผลผลิต, การขอพรให้ผลผลิตในปีหน้าอุดมสมบูรณ์ และการขอพรให้มีสุขภาพแข็งแรง โดยมีการผูกเชือกโอสึนะ (เชือกผู้ชาย) และเมสึนะ (เชือกผู้หญิง) เข้าไว้ด้วยกัน เหล่าผู้คนที่ดึงเชือกยักษ์จะมีสีหน้าที่จริงจัง เนื่องจากต้องทำนายว่าในปีนั้นจะออกมาโชคดีหรือโชคร้าย โดยผลลัพธ์จะขึ้นอยู่กับผลของการแข่งขัน นอกจากการแข่งขันชักกะเย่อแล้ว ก็ยังมีสิ่งที่น่าสนใจภายในงานมากมาย เช่น การสู้รบกาเอและกระบี่กระบองที่ได้ทำการข่มขวัญเพื่อทำลายความเร็วในการเดินเท้าของคู่กรณี, มิจิจูเน่ (ขบวนพาเหรด), ชิตาคุ (กลุ่มคนที่ขึ้นไปอยู่บนเชือกยักษ์โดยการแต่งตัวแบบแฟนซี) ฯลฯ

วันที่ 13-15 เดือน 7 ตามปฏิทินจันทรคติ เทศกาลโอบ้ง

h

เทศกาลโอบ้งของโอกินาวาจะจัดขึ้นในวันที่ 13-15 เดือน 7 ตามปฏิทินจันทรคติ เป็นระยะเวลา 3 วัน
ในช่วงเวลานี้ เหล่าผู้คนมากมายจะถือของกำนัลไปเยี่ยมญาติๆ แล้วมีการจุดธูปบนหิ้งพระ
ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้คนจำนวนมากลาหยุดหรือกลับบ้านก่อนเวลา อีกทั้งยังมีบางบริษัทที่อนุมัติให้ลางานได้ด้วย เทศกาลโอบ้งจึงเป็นกิจกรรมที่แทรกซึมเข้าไปในชีวิตประจำวันในฐานะเทศกาลในรอบปีที่สำคัญของโอกินาวา
วันที่ 13 เป็นวัน “อุนเค” เป็นวันต้อนรับวิญญาณบรรพบุรุษที่มาจากโลกหลังความตาย
ส่วนวันที่ 14 เป็นวัน “นาคานุฮิ” และวันที่ 15 ซึ่งเป็นวันสุดท้าย เราเรียกวันนั้นว่าวัน “อูคุอิ”
ในวันนี้ จะเป็นวันที่สำคัญที่สุดในเทศกาลโอบ้ง ครอบครัวและญาติๆ จะมาอยู่ล้อมรอบหิ้งพระและใช้เวลาด้วยกันอย่างสงบและราบรื่น
“พิธีส่งวิญญาณ” ที่ทำการส่งบรรพบุรุษกลับไปยังโลกหลังความตาย จะจัดขึ้นในช่วงเย็นของวันที่ 15
ตามแต่ละท้องที่ภายในจังหวัดก็ได้มีจัดการแสดงแบบดั้งเดิมที่ให้ความสนุกสนานครึกครื้นและมีความเกี่ยวข้องกับเทศกาลโอบ้ง เช่น การแสดงกลองเอซา, การแสดงโบโอโดริ และการแสดงระบำเชิดสิงโต ฯลฯ
การแสดงกลองเอซาเป็นการแสดงของกลุ่มวัยรุ่นหนุ่มสาวที่มีผู้ถือธงนำอยู่ตรงบริเวณหัวแถว โดยจะมีการเดินขบวนแห่ไปตามถนนแล้วทำการสวดมนต์อธิษฐานและทำการแสดงต่างๆ เช่น การตีกลอง, ร้องเพลง และการแสดงดนตรี เพื่อเป็นการทำบุญให้แก่วิญญาณบรรพบุรุษ
การแสดงกลองเอซาที่มีการเต้นและร่ายรำอย่างทระนงองอาจ จัดได้ว่าเป็นหนึ่งในศิลปะการแสดงดั้งเดิมที่สำคัญของโอกินาวา

วันที่ 7 เดือน 9 ตามปฏิทินจันทรคติ เป็นวันคาจิมายา

คาจิมายาเป็นงานฉลองให้กับผู้ที่มีอายุครบ 97 ปี
ว่ากันว่าผู้ที่มีอายุมากขนาดนี้หัวใจจะหวนกลับไปสู่วัยเด็กอีกครั้ง จึงได้เริ่มมีการทำกังหันลม (คาจิมายา) ซึ่งเป็นของเล่นสำหรับเด็กขึ้นมา
ขบวนพาเหรดในงานคาจิมายาที่จริงแล้วจะจัดขึ้นแบบใหญ่โตมโหฬารมาก โดยจะมีการเชิญผู้ที่เป็นเจ้าของงานขึ้นรถที่ประดับตกแต่งด้วยสีสันอันสดใสแล้วแห่ไปรอบๆ หมู่บ้าน
ครอบครัวและญาติๆ เองก็เข้าร่วมในขบวนพาเหรดนี้ด้วย โดยตามตลอดสองข้างทางจะมีผู้คนจำนวนมากคอยทักทายและจับมือเพื่อให้ได้อานิสงส์ช่วยให้ตนเองมีอายุยืนขึ้นนั่นเอง

วันที่ 8 เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติ มูจี

h

มูจี เป็นพิธีถวายขนมโมจินึ่งโดยการนำไปห่อด้วยใบเก็ตโต (ข่าคม) หรือใบคุบะ แล้วนำไปถวายยังหิ้งพระและเทพเจ้าแห่งไฟ (ฮินุคัง) โดยมีธรรมเนียมการทานขนมโมจิที่ห่อด้วยใบข่าคมแล้วนำไปนึ่ง ในช่วงเวลานี้ นอกจากจะต้องเผชิญกับอุณหภูมิที่ลดต่ำลงเพื่อให้รอดพ้นจากความหนาวแล้ว ในสมัยก่อนนั้นก็มีนิทานปรัมปราที่เล่าต่อๆ กันมาว่า น้องสาวได้จัดการกับพี่ชายที่กลายเป็นยักษ์กินคนโดยใช้ขนมมูจี กลิ่นหอมของใบข่าคมจะช่วยขับไล่สิ่งชั่วร้าย ดังนั้น การได้ทานขนมมูจีก็เท่ากับได้ปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายออกไปนั่นเอง

ครอบครัวที่มีเด็กทารกถือกำเนิดขึ้นมาจะทำการต้อนรับเด็กทารกครั้งแรกด้วยขนมมูจี เรียกว่า “ฮะจิมูจี” และมีการแจกจ่ายขนมมูจีไปยังหมู่ญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านละแวกใกล้เคียงด้วย เนื่องจากใบข่าคมมีสรรพคุณช่วยกำจัดแมลง จึงมีความหมายว่าเป็นเครื่องรางที่ช่วยคุ้มครองป้องกันภัยด้วย และมีการทานโดยขอพรให้เด็กน้อยเติบโตมีสุขภาพที่แข็งแรง นอกจากนี้ ในครอบครัวที่มีเด็กอาศัยอยู่ก็จะผูกเชือกที่ตัวขนมมูจีตามจำนวนอายุแล้วแขวนไว้ที่บ้าน หลังจากนั้นก็จะทำการขอพรต่อตัวขนมเพื่อไม่ให้มีเรื่องเดือดร้อนเข้ามาย่างกราย

วันที่ 24 เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติ อุกังบุตูจิ

ในวันนี้ เทพเจ้าแห่งไฟ (ฮินุคัง) จะกลับไปยังสวรรค์ โดยเป็นวันที่จะต้องกลับไปรายงานต่อเทพเจ้าบนสวรรค์ถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับครอบครัวในรอบปี ดังนั้น จึงได้มีการขอบคุณต่อคำขอพรที่สมหวังในช่วง 1 ปีนี้ และมีการขอพรเพื่อไม่ให้มีภัยพิบัติและเรื่องราวร้ายๆ เกิดขึ้นอีก